ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์
ผลการศึกษาจำนวนมากพบว่าโพรไบโอติกส์เป็นแบคทีเรียชนิดดีต่อร่างกายโดยเฉพาะในส่วนของระบบทางเดินอาหาร โดยโพรไบโอติกส์ในระบบทางเดินอาหารมีส่วนช่วยรักษาสภาวะสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ให้อยู่ในสภาวะปกติ โดยทั่วไประบบทางเดินอาหารของมนุษย์มีทั้งแบคทีเรียดีและแบคทีเรียก่อโรคโดยอยู่ในสภาวะที่สมดุล
อย่างไรก็ตามบางสภาวะของร่างกายหรือการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลให้สมดุลดังกล่าวเสียไป ซึ่งส่งผลให้เกิดผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารเช่น การขับถ่าย (ท้องผูกหรือท้องเสีย) การย่อยอาหาร กระเพาะอักเสบเรื้อรัง เกิดลมในทางเดินอาหาร โรคกรดไหลย้อน และลำไส้แปรปรวน เป็นต้น
ดังนั้นการรับประทานโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เพียงพอเพื่อช่วยรักษาสมดุลของเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารจึงส่งผลช่วยให้การทำงานของทางเดินอาหารเข้าสู่สภาวะปกติ จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ข้างต้นได้ นอกจากนี้โพรไบโอติกส์ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายและช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในลำไส้ หากภายในระบบทางเดินอาหารมีโพรไบโอติกส์ที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อได้และลดการติดเชื้อ
ดังนั้นจึงมีการนำโพรไบโอติกส์มาใช้ในการรักษาอาการท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ (infection diarrhea) และช่วยป้องกันหรือรักษาท้องเสียจากการรับประทานยาปฏิชีวนะ (antibiotic-associated diarrhea) เป็นต้น
นอกจากประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ต่อระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนการนำโพรไบโอติกส์มาใช้ในการรักษา หรือบรรเทาความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายเช่น
- ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)
- ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาโรคภูมิแพ้ (allergy)
- ช่วยลดการอักเสบติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ลดการสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปัสสาวะอักเสบ
- ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล (LDL และ total cholesterol) ในเลือด
- ช่วยในการสังเคราะห์วิตามิน ได้แก่ วิตามินเค (vitamin K) และกลุ่มของวิตามินบีที่ละลายน้ำได้แก่ วิตามินบี 1 (thiamine), วิตามินบี 12 (vitamin B12) และโฟเลต (folate หรือ Vitamin B9) เป็นต้น
- ช่วยลดความรุนแรงของการเกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด (common cold) โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (respiratory infection) และ อาการคล้ายไข้หวัด (influenza-like symptoms) ในเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และนักกีฬา
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ในแง่อื่น ๆ เช่น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การศึกษาการใช้โพรไบโอติกส์เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของสมองและความจำ ลดหรือบรรเทาความเครียด และลดความดันโลหิต เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Williams NT. Probiotics. Am J Health Syst Pharm. 2010;67(6):449-458.
- Suez J, Zmora N, Segal E, Elinav E. The pros, cons, and many unknowns of probiotics. Nat Med. 2019;25(5):716-729. doi:10.1038/s41591-019-0439-x.
- Vera-Santander VE, Hernández-Figueroa RH, Jiménez-Munguía MT, Mani-López E, López-Malo A. Health Benefits of Consuming Foods with Bacterial Probiotics, Postbiotics, and Their Metabolites: A Review. Molecules. 2023; 28(3):1230.
- แคทรียา สุทธานุช, ธีระ ฤทธิรอด, รุ้งระวี วันดี. โพรไบโอติกส์กับระบบภูมิคุ้มกัน. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์.
- Kechagia M, Basoulis D, Konstantopoulou S, et al. Health benefits of probiotics: a review. ISRN Nutr. 2013;2013:481651. Published 2013 Jan 2. doi:10.5402/2013/481651.