จากสภาพอากาศร้อนในปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียส จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ “โรคลมแดด” หรือ ฮีทสโตรก โรคร้ายที่มากับหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต เอ็มเมดสาระน่ารู้ จะมาบอกสาเหตุและวิธีการป้องกันมาฝาก
“โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) เป็นโรคที่มากับหน้าร้อนมักจะเกิดขึ้นและมีอาการโดยไม่รู้ตัว อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับสุขภาพและความแข็งแรง สามารถต้านทานโรคได้มากหรือน้อยของแต่ละบุคคล หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทันที
“โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศวัย รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน จากภาวะที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ ความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ
เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่างกายไม่สามารถปรับตัวและไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทันทีได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรีบทำการรักษาให้ทันเวลา เนื่องจากเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ช้าเกินไปมีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต
- Classical Heat Stroke มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบส่วนกลางของร่างกาย ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิความร้อนสูงจัด พบในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และมักเกิดในช่วงที่มีคลื่นความร้อนสูง และอยู่ในบ้านที่ปิดมิดชิดไม่มีที่ระบายอากาศ
- Exertional Heat Stroke มักจะเกิดกับกลุ่มผู้ที่มีการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป หรือผู้ที่ใช้แรงงาน นักกรีฑา ที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนในร่างกายได้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยในกลุ่มแรก อาการที่พบส่วนใหญ่ เกิดการสลายเซลล์ของกล้ามเนื้อ ระดับโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมต่ำ เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชัก รุนแรงถึงขึ้นเลือดออกทุกทวาร และเสียชีวิตในที่สุด
อาการของโรคลมแดด (Heat Stroke)
- ตัวร้อน มีไข้สูง อุณหภูมิร่างกายสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส
- อาการทางผิวหนัง : ผิวหนังแดง แห้งและร้อน ร่างกายไม่ขับเหงื่อออก
- อาการทางระบบประสาท : วิงเวียนศรีษะ วูบหมดสติ มีอาการชัก ไม่รู้สึกตัว ตอบสนองช้า
- อาการทางระบบหายใจ : หายใจเร็ว หายใจถี่และตื้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- อาการทางร่างกาย : เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อยล้า
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
- อาการทางระบบขับถ่าย : ปัสสาวะออกน้อยผิดปกติ มีสีเข้ม เพราะมีการสลายของกล้ามเนื้อ นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน
แนวทางการป้องกันโรคลมแดด (Heat Stroke)
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในเวลาที่มีอากาศร้อนจัด
- สวมใส่เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ดี และสามารถป้องกันแสงแดดได้
- ลดอุณหภูมิให้ร่างกายด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
- ผู้สูงอายุ เด็กและสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงที่อยู่ในสถานที่ร้อนจัด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคสูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้กระตุ้นอาการ เช่น แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
- ผู้ที่ออกกำลังกาย เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่อากาศถ่ายเท แนะนำให้เป็นช่วงเวลาเช้าหรือเย็น
- สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เมื่อพบร่างกายผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงยากลุ่มแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก หรือยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอนในเวลากลางวันหรือต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
วิธีดูแลผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคลมแดดเบื้องต้น
- จับผู้ที่มีอาการให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออกให้ถ่ายเท นำเข้าที่ร่มมีลมพัดให้สบายตัวขึ้น
- ลดอุณหภูมิในร่างกายให้ต่ำลงโดยการระบายความร้อน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือประคบน้ำแข็งตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศรีษะ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือเกลือแร่เพื่อทดแทน
- กรณีผู้ป่วยตัวร้อนจัด ไข้สูงมาก ให้เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลพบแพทย์ทันที
ไม่ว่าใครก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดดนี้ได้ แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากสภาพร่างกายรับมือกับอุณหภูมิของร่างกายที่สูง ความแข็งแรงของร่างกายระบบประสาทส่วนกลางของผู้สูงอายุที่มี่ความเสื่อมลง หรือเด็กเล็กที่ระบบประสาทส่วนกลางยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคนี้ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่อสภาวะร่างกายขาดน้ำได้ง่ายอีกด้วย
รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคปอด หรือผู้ป่วยกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ มีความเสี่ยงภาวะร่างกายขาดน้ำได้เช่นกัน ควรต้องอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก สวมใส่เสื้อผ้าระบายอากาศได้ดี การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วล้วนมีผลทำให้ร่างกายต้องปรับสภาพกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น จึงต้องหมั่นทำให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงและอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคลมแดด Heat Stroke ถึง 18-20 รายต่อปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นในแต่ละปี ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 15 ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน การป้องกันและรู้ถึงสาเหตุของโรคจะทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี ป้องกันไว้ก่อนดีกว่าต้องรักษา เพราะความรุนแรงอันตรายถึงชีวิต